เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 3.สุวัณณสามชาดก (540)
(พระเจ้าปิลยักษ์ตรัสแก้ตัวว่า)
[306] เนื้อปรากฏมาถึงระยะลูกศรแล้ว
ท่านสาม มันเห็นท่านแล้วจึงแตกหนีไป
เพราะฉะนั้น เราจึงโกรธ
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[307] ตั้งแต่ข้าพระองค์จำความได้
ตั้งแต่ข้าพระองค์รู้จักรับผิดชอบ
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[308] ตั้งแต่ข้าพระองค์นุ่งเปลือกไม้อยู่ในปฐมวัย
ฝูงเนื้อในป่าแม้จะเป็นเนื้อร้าย
แต่ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
[309] ข้าแต่พระราชา ฝูงกินนรผู้ขลาดกลัวที่ภูเขาคันธมาทน์
เราทั้งหลายต่างเพลิดเพลินพากันไปสู่ภูเขาและป่า
[310] ฝูงเนื้อแม้จะเป็นเนื้อร้ายในป่า
ก็ไม่สะดุ้งกลัวข้าพระองค์
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ฝูงเนื้อจึงจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์เล่า
(พระเจ้าปิลยักษ์ได้สดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[311] ท่านสาม เนื้อหาได้สะดุ้งกลัวท่านไม่
เรากล่าวเท็จแก่ท่านต่างหาก
เราถูกความโกรธและความโลภครอบงำ
จึงได้ปล่อยลูกศรนั้นไปถึงท่าน
[312] สาม ท่านมาจากไหน ใครใช้ท่านมาว่า
ท่านจงไปยังแม่น้ำมิคสัมมตาแล้วตักน้ำมา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :231 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 3.สุวัณณสามชาดก (540)
(สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้อดกลั้นทุกขเวทนาแสนสาหัส กราบทูลว่า)
[313] มารดาบิดาของข้าพระองค์เป็นคนตาบอด
ข้าพระองค์เลี้ยงดูท่านทั้ง 2 นั้นอยู่ในป่าใหญ่
ข้าพระองค์จะไปตักน้ำมาให้ท่านทั้ง 2 นั้น
จึงมายังแม่น้ำมิคสัมมตา
(สุวรรณสามโพธิสัตว์กล่าวบ่นเพ้อรำพันถึงมารดาบิดาว่า)
[314] ท่านทั้ง 2 นั้นมีเพียงอาหารเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนั้น จะพึงมีชีวิตอยู่ได้เพียง 6 วัน
เพราะไม่ได้น้ำ ท่านผู้ตาบอดทั้ง 2 เห็นจักตายแน่
[315] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบมารดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[316] ข้าพระองค์ไม่เป็นทุกข์
เพราะความทุกข์เช่นนี้ คนพึงได้รับเหมือนกัน
แต่ความทุกข์ที่ข้าพระองค์ไม่ได้พบบิดา
เป็นความทุกข์อย่างยิ่งของหม่อมฉัน
[317] มารดานั้น จะร้องไห้อย่างน่าสงสารเป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[318] บิดานั้นจักเป็นทุกข์ลำบากแน่เป็นเวลานาน
จนเที่ยงคืน หรือตลอดคืน จะซูบซีดลง
เหมือนแม่น้ำน้อยในฤดูร้อนเหือดแห้งไป
[319] มารดาและบิดาทั้ง 2 จักเที่ยวบ่นเรียกหาข้าพระองค์ว่า
พ่อสาม ๆ ในป่าใหญ่ เพื่อต้องการปรนนิบัติเท้า
และเพื่อต้องการบีบนวดมือและเท้าด้วยความพยายาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :232 }